Kueng hilights

จาก Theory Wiki
ไปยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

รถยนต์ประหยัดเชื้อเพลิงโดยทีมนิสิตวิศวกรรมเครื่องกล KU Racing

นิสิตวิศวกรรมเครื่องกล ทีม KU Racing นำความรู้ในตำราเรียนมาประยุกต์สร้างรถยนต์ประหยัดเชื้อเพลิงเข้าร่วมการแข่งขันในสนามแข่งขันระดับนานาชาติ คว้ารางวัลที่ 2 ประเภท E-Mobility Class Plug In Award จากการแข่งขันเชลล์อีโค-มาราธอน เอเชีย 2011 (Shell Eco-Marathon Asia 2011) จัดขึ้นโดยบริษัท เชลล์มาเลเซีย จำกัด เมื่อวันที่ 6-9 กรกฎาคม 2554 ณ ประเทศมาเลเซีย จากกว่าร้อยทีมจากเกือบ 20 ประเทศในแถบเอเชียที่เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้

การแข่งขันจะเป็นการขับรถในสนามรอบเล็กของสนามแข่งขันเซปัง ครั้งละ 4รอบ เป็นระยะทางรวม 11.8 กิโลเมตร โดยกำหนดให้ใช้เวลาไม่เกิน 28 นาที การเก็บสถิติจะใช้เป็นหน่วย km/kWh (กิโลเมตร/กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง) โดยแต่ละทีมสามารถนำรถลงแข่งเพื่อเก็บสถิติได้ 5 ครั้ง

ในปีนี้สมาชิกในทีม KU Racing ได้วางแผนและปรับปรุงเพื่อให้สามารถเก็บสถิติการวิ่งได้ดีที่สุด โดยรถของทีม KU Racing เป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า และทำสถิติได้ 45 km/kWh เป็นลำดับที่สองรองจากสิงคโปร์

รถยนต์ประหยัดเชื้อเพลิงของนิสิตวิศวฯ ทีม KU Racing ประกอบด้วย 4 ส่วนหลักๆ คือ 1. Frame หรือโครงสร้าง ทำจากเหล็กท่อ ขนาด 4 หุน ทำการออกแบบและวิเคราะห์ความแข็งแรงด้วยโปรแกรม Finite Element Analysis 2. Body หรือตัวถังรถ สร้างจากไฟเบอร์กลาส 3. ระบบไฟฟ้าและระบบเครื่องยนต์ ทีม KU Racing ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นเครื่องยนต์ ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ Li-Polymer และ 4. ระบบ steering and tranmission การขับเคลื่อนรถใช้ระบบคล้ายรถโกคาร์ท รวมถึงล้อรถยนต์ได้ดัดแปลงมาจากล้อรถของจักรยานยนต์ให้เหมาะสมกับการใช้งาน

เปิดใจนิสิตทีม KU Racing

จาตุรันต์ หนึ่งในสมาชิกทีม KU Racing เล่าถึงการแข่งขันว่า "สิ่งที่ยากที่สุดในการแข่งขัน คือ การแข่งกับตัวเอง เนื่องจากรถยนต์ของทีมเราสร้างมาจากเทคโนโลยี และงบประมาณที่มีอย่างจำกัด ดังนั้น การสร้างรถให้ออกมาอย่างสมบูรณ์แบบพร้อมแข่งได้ คือ ความสำเร็จก้าวแรก และเมื่อถึงเวลาแข่งขัน ในสนามแข่งขันทุกคนต้องช่วยกันคิดและทำให้รถมีสมรรถนะในการขับขี่ให้มากที่ สุด"

โมลิโก หัวหน้าทีม KU Racing เล่าต่อว่า "ส่วนที่ใช้เวลาในการทำนานที่สุด คือ ส่วนตัวถังรถหรือ Body เนื่องจากทุกคนเป็นมือใหม่กันทุกคน โดยเริ่มจากการศึกษาและหาความรู้เพิ่มเติมและฝึกสร้างตัวถังรถกันตั้งแต่ ขั้นแรก จึงต้องใช้เวลามากในขั้นตอนนี้ โดยใช้เวลาหลังเลิกเรียนในการเรียนรู้ ฝึกหัดและสร้างรถยนต์คันนี้ โดยมีต้นทุนในการสร้างรถยนต์ประหยัดพลังงานคันนี้ ประมาณ 3 แสนบาท สมาชิกแต่ละคนไม่มีหน้าที่ตายตัว เวลาทำงาน ใครถนัดส่วนไหน จะรับผิดชอบและเป็นผู้นำในส่วนนั้น และจะช่วยกันทำทั้งทีม หากเกิดปัญหาระหว่างการสร้างรถยนต์สมาชิกทุกคนในทีมจะปรับความเข้าใจให้ตรง กันด้วยการคุยกันตรงๆ และช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

จากการแข่งขันครั้งนี้ การทำงานเป็นทีมเป็นเรื่องสำคัญมาก ทำให้ได้เรียนรู้ว่า การทำงานหลายๆ อย่าง เราไม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียวได้ หรืออาจจะทำได้แต่ไม่เก่งเท่าคนอื่น เนื่องจากแต่ละคนมีความถนัดที่แตกต่างกัน ดังนั้น หากเราสามารถวางแผนงาน ให้ทุกคนได้ทำงานในส่วนที่ตัวเองถนัด งานก็จะออกมาดี นอกจากนี้การทำงานร่วมกัน หากเกิดปัญหาและสามารถผ่านไปได้ด้วยดี ก็จะช่วยหล่อหลอมให้สมาชิกในทีมมีความรักและความสามัคคีมากขึ้นอีกด้วย”

สมาชิกในทีม KU Racing ช่วยกันเล่าต่อว่า “การได้ร่วมสร้างรถแข่งเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ นอกจากการสร้างรถแข่งตามที่ตั้งใจไว้แล้ว พวกเราทุกคนในทีมยังได้รู้จักคำว่า มิตรภาพ แม้ว่าบางครั้งจะมีปัญหาบ้าง แต่เราก็ช่วยกันแก้ปัญหาและผ่านพ้นมาได้ ทำให้เรียนรู้ว่า มิตรภาพและประสบการณ์ คือสิ่งที่พวกเราได้มา ส่วนรางวัลที่ได้รับ คือ กำไรที่เราได้มาเพิ่ม”

“นอกจากมิตรภาพ ความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับรถแล้ว เรายังมีโอกาสเปิดหูเปิดตา ได้เห็นการจัดการแข่งขันในระดับมืออาชีพ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เราสามารถนำมาปรับใช้และพัฒนารถแข่งของทีมเราต่อไป และอยากฝากรุ่นน้องว่า เวลา 4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัยผ่านไปเร็วมาก เราควรจะกอบโกยประสบการณ์ให้ได้มากที่สุด นอกเหนือจากการเรียนแล้ว ควรร่วมทำกิจกรรมเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ให้ชีวิตด้วย เพราะ “ความรู้ไม่ได้มีอยู่แต่ในห้องเรียน” จาตุรันต์ กล่าวส่งท้าย

สำหรับสมาชิกทีม KU Racing ที่ร่วมการแข่งขันเชลล์อีโค-มาราธอน เอเชีย 2011 ประกอบด้วยนิสิตวิศวกรรมเครื่องกล ชั้นปีที่ 3 จำนวน 2 คน คือ นายวศิน สีสุก และนายณัฐชานนท์ สิทธิสงคราม นิสิตชั้นปีที่ 4 จำนวน 8 คน คือ นายพงศธรณ์ ตรีคันทา นายโมลิโก ตัง (หัวหน้าทีม) นายณัฐพล ลมัยพันธ์ นายดิศนิติ โตวิวัฒน์ นายศุภกิจ สั้นดำ นายอภิสิทธิ์ บางเกิด นายจตุรันต์ สุขทอง นายรติ จัตตตุพรพงษ์ นายศิริวิช สุนทรยาตย์ และนางสาวสิริกร อัจฉริยะสมบัติ โดยมี อาจารย์ ดร.เจตวีย์ ภัครัชพันธุ์ และอาจารย์ ดร.ประพจน์ ขุนทอง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล เป็นอาจารย์และที่ปรึกษาทีม

นอกจากทีม KU Racing จะสามารถคว้ารางวัลที่ 2 จากประเทศมาเลเซียแล้ว ยังมีทีม KU Racing อีกทีม ที่คว้ารางวัลชมเชยจากการการแข่งขัน Bosch Thailand Cordless Racing 2011 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 2-3 กรกฎาคม 2554 โดยบริษัทโรเบิร์ต บ๊อช (ประเทศไทย) จำกัด ณ ศูนย์สรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยสมาชิกทีม KU Racing ที่ร่วมการแข่งขัน ประกอบด้วยนิสิตภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ชั้นปีที่ 3 จำนวน 4 คน คือ นายอนุรักษ์ คุณานพรัตน์ นายทศพล ตรีโกศล นายณัฐชัย อึ้งโสภาพงษ์ และนายอาทิตย์เก้า อ้นมณี