Python Programming/Python Interpreter

จาก Theory Wiki
ไปยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

ภาษาไพทอนทำงานโดยการแปลคำสั่งทีละคำสั่งด้วยตัวแปลภาษาไพทอน (Python Interpreter) ซึ่งแตกต่างจากภาษาอื่นเช่น C หรือ Java ที่ต้องผ่านกระบวนการคอมไพล์เพื่อแปลคำสั่งทั้งหมดในคราวเดียวก่อนจึงจะเรียกใช้งานโปรแกรมได้ การสั่งงานคอมพิวเตอร์ด้วยภาษาไพทอนจึงสามารถทำได้ทั้งในโหมดโต้ตอบ (interactive mode) และโหมดสคริปต์ (script mode) นอกจากนั้นเครื่องมือบางอย่างเช่น Spyder หรือ Ipython Notebook สามารถช่วยให้เราใช้งานทั้งสองโหมดผสมผสานกันได้

การใช้งานไพทอนในโหมดโต้ตอบ

การใช้งานไพทอนในโหมดโต้ตอบทำได้โดยการเรียกคำสั่ง python โดยไม่ต้องระบุชื่อไฟล์ใด ๆ เพิ่มเติม ไพทอนจะแสดงรายละเอียดเวอร์ชันและข้อความทักทาย และเข้าสู่ไพทอนเชลล์โดยการแสดงการรอรับคำสั่งด้วยเครื่องหมายพร้อมพ์ ที่มีสัญลักษณ์เป็น >>>

$ python
Python 2.7.3 (default, Jun 22 2015, 19:33:41) 
[GCC 4.6.3] on linux2
Type "help", "copyright", "credits" or "license" for more information.
>>>

การเรียกใช้คำสั่ง python ข้างต้นอาจมีความสับสนว่าเป็นไพทอนของระบบปฏิบัติการหรือของ Anaconda ให้ลองใช้คำสั่ง which python เพื่อตรวจสอบว่าเป็นไพทอนตัวใด

$ which python
/usr/bin/python

หากผลลัพธ์เป็นไปตามข้างต้นแสดงว่าตัวแปลภาษาไพทอนที่เรียกใช้เป็นตัวที่ติดมาให้กับระบบปฏิบัติการ ทั้งนี้ผลลัพธ์ที่ได้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละเครื่องหรือแต่ละผู้ใช้ ขึ้นอยู่กับการตั้งค่าตัวแปร PATH ของเชลล์ยูนิกซ์ที่ใช้อยู่ จึงควรป้อนพาธแบบเต็มไปยังไพทอนตัวที่ต้องการใช้จริง ๆ ตัวอย่างเชนหากต้องการรันไพทอนของ Anaconda เพื่อใช้งานไลบรารีที่ Anaconda จัดเตรียมไว้ให้ ควรต้องใช้คำสั่งด้านล่าง (สมมติว่า Anaconda ถูกติดตั้งไว้ภายใต้โฮมไดเรคตอรีของตนเอง)

$ ~/anaconda/bin/python
Python 2.7.10 |Anaconda 2.3.0 (64-bit)| (default, May 28 2015, 17:02:03) 
[GCC 4.4.7 20120313 (Red Hat 4.4.7-1)] on linux2
Type "help", "copyright", "credits" or "license" for more information.
Anaconda is brought to you by Continuum Analytics.
Please check out: http://continuum.io/thanks and https://binstar.org
>>>

คำสั่งใด ๆ ที่ป้อนลงไปในไพทอนเชลล์จะถูกตีความและประมวลผลทันที

>>> print 'Hello'
Hello

ไพทอนเชลล์จะแสดงค่าของนิพจน์ที่ป้อนลงไปแม้ว่าจะไม่เป็นคำสั่งที่สมบูรณ์ก็ตาม ตัวอย่างเช่น

>>> 3+5
8
>>> 'Hello'
'Hello'

ไพทอนอาจตีความได้ว่าคำสั่งหรือนิพจน์ที่ป้อนลงไปนั้นยังไม่สมบูรณ์ เช่นนิพจน์ที่ปิดวงเล็บไม่ครบ กรณีนี้ไพทอนจะยังไม่ประมวลผลคำสั่งแต่จะรอส่วนของคำสั่งเพิ่มเติมในบรรทัดถัดไปด้วยสัญลักษณ์ ...

>>> 3+(5*
... 2)
13

เราสามารถกดปุ่ม Ctrl-C ที่พร็อมพ์ ... เพื่อยกเลิกการป้อนคำสั่งที่ป้อนค้างไว้ได้

>>> 3+(5*
... กดปุ่ม Ctrl-C
KeyboardInterrupt
>>>

กดปุ่ม Ctrl-D หรือพิมพ์คำสั่ง exit() เพื่อออกจากไพทอนเชลล์

>>> exit()   หรือกดปุ่ม Ctrl-D
$

เห็นได้ว่าข้อดีของโหมดโต้ตอบคือทำให้เราเห็นผลลัพธ์การทำงานของแต่ละคำสั่งได้ทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลาสร้างไฟล์และคอมไพล์โปรแกรม แต่ข้อจำกัดของโหมดนี้คือหากต้องการทดลองเปลี่ยนแปลงคำสั่งใดคำสั่งหนึ่งข้างต้นเพื่อดูผลกระทบต่อคำสั่งอื่นที่ตามมาจะต้องป้อนคำสั่งเหล่านี้ลงไปใหม่ทั้งหมด แม้ว่าการกดลูกศรขึ้น (↑) จะทำให้ไพทอนเชลล์ดึงคำสั่งที่เคยป้อนลงไปกลับมาได้โดยไม่ต้องพิมพ์ใหม่ แต่หากต้องทำต่อเนื่องหลาย ๆ ครั้งก็ยังเป็นการเสียเวลาและไม่สะดวกเท่าใดนัก นอกจากนั้นเมื่อออกจากไพทอนเชลล์ไปแล้วคำสั่งที่เคยพิมพ์เอาไว้ทั้งหมดจะไม่สามารถถูกดึงกลับมาได้อีก

การใช้งานไพทอนในโหมดสคริปต์

แทนที่จะให้ไพทอนทำงานทีละคำสั่งในโหมดโต้ตอบ เราสามารถรวมคำสั่งเหล่านี้เข้าด้วยกันเป็น บท หรือ สคริปต์ (script) ไว้ในไฟล์เพื่อสั่งให้ไพทอนทำงานรวดเดียวได้ ซึ่งเทียบเท่ากับการเขียนโปรแกรมในภาษาอื่น ๆ สคริปต์ไฟล์สามารถสร้างได้จากเอดิเตอร์ตัวใดก็ได้ โดยบันทึกชื่อไฟล์ให้มีนามสกุลเป็น .py ตัวอย่างเช่นไฟล์ hello.py ประกอบไปด้วยคำสั่ง

print 'Hello'
a = 3
b = 8
print a*2 + b*3

ใช้คำสั่ง python เพื่อรันสคริปต์ที่สร้างขึ้น

$ python first.py
Hello
30

ดังที่ได้อธิบายไปแล้ว การใช้คำสั่ง python โดยไม่ระบุพาธอาจทำให้เกิดความสับสนว่ากำลังใช้งานไพทอนตัวใดอยู่ อย่างไรก็ตามตัวอย่างในเอกสารนี้ทั้งหมดไม่ได้มีการใช้งานไลบรารีพิเศษใด ๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากไลบรารีมาตรฐานที่ติดมาให้กับไพทอนทุกตัว จึงสามารถใช้งานไพทอนตัวใดก็ได้

การใช้งานไพทอนผ่าน IPython Notebook

http://nbviewer.ipython.org/